ข่าวสารและบทความ

6 ขั้นตอน ซื้อรถยนต์มือสอง อย่างไรไม่ให้โดนหลอก

6 ขั้นตอน ซื้อรถยนต์มือสอง อย่างไรไม่ให้โดนหลอก

ซื้อรถมือสอง ทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับใครหลายคน เพราะราคาถูกกว่ารถป้ายแดงค่อนข้างมาก สามารถเลือกรถยนต์ที่ชอบในราคาที่ใช่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจสร้างความปวดหัวสำหรับใครหลายคนที่ยังไม่มีประสบการณ์ เพราะรูปลักษณ์ของรถยนต์ที่ดูสวยโดนใจ อาจมีปัญหาซ่อนอยู่ เช่นรถผ่านอุบัติเหตุแรง ๆ มาแล้วจนเครื่องยนต์มีปัญหา และทำให้คุณต้องมาแก้ไขต่อในภายหลัง ดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบในการเลือกซื้อ เจมาร์ท ประกันภัย จึงได้รวบรวม 6 ขั้นตอนการเลือกซื้อรถยนต์มือสอง เพื่อไม่ให้โดนหลอกมาฝากกันค่ะ

1.เช็กรุ่นรถยนต์ที่สนใจ

ก่อนอื่นคุณต้องหาข้อมูลและแม่นยำในข้อมูลของรถยนต์รุ่นที่คุณสนใจ ว่ามีคุณสมบัติ ข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้าง เพื่อเวลาที่คุณไปตรวจสอบรถยนต์ จะได้รู้ว่าข้อบกพร่องที่คุณพบนั้นเป็นความบกพร่องที่รถรุ่นนั้นมีอยู่แล้ว หรือมาจากการใช้งาน กล่าวคือ สามารถชี้จุดที่มีความบกพร่อง หรือความเสื่อมสภาพของรถที่ไม่ใช่จากการใช้งานปกติได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ขายรู้ว่า คุณมีความรู้และรู้จักรถรุ่นที่จะซื้ออย่างแท้จริง รวมถึงคุณจะต้องตรวจสอบราคากลางของรถรุ่นนั้นที่มีสภาพดี ว่าโดยทั่วไปมีราคาเท่าไหร่ เพื่อที่จะสามารถประเมินและต่อรองราคากับผู้ขายได้อย่างเหมาะสมนั่นเองค่ะ  

2.เช็กข้อมูลผู้ขาย

ในการติดต่อซื้อขายรถยนต์มือสอง ควรซื้อจากบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีจุดบริการเป็นหลักแหล่ง หรือเป็นตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งจากบริษัทรถยนต์ มีการบริการที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ รวมถึงควรมีการรับประกันคุณภาพรถหลังการขาย โดยสามารถค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต หรือหาดูรีวิวจากลูกค้าผู้ใช้บริการ ซึ่งโดยทั่วไปจะพบได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหรือ เฟสบุ๊ก โดยหากเป็นเจ้าของขายเอง ก็สามารถลองเช็กชื่อผู้ประกาศขายได้จากอินเตอร์เน็ตเช่นกัน  

3.เช็กข้อมูลรถยนต์จากผู้ขาย

ควรสอบถามข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญ เช่น เคยเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เคยซ่อมครั้งใหญ่หรือไม่ เคยถูกน้ำท่วมหรือไม่ เปลี่ยนเจ้าของกี่ครั้ง รวมถึงข้อมูลการบำรุงรักษารถยนต์ ซึ่งผู้ขายรถควรมีคู่มือประจำรถ หรือเอกสารต่าง ๆ ในการเข้าศูนย์บริการ เก็บไว้ให้ผู้ซื้อ เพราะจะเป็นหลักฐานว่ารถคันนั้นได้รับการดูแลมาอย่างไร หรือมีปัญหาอะไรมาบ้าง ที่จะต้องซ่อมแซมเปลี่ยนอะไหล่ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระยะยาว เพื่อผู้ซื้อจะได้นำมาประกอบการตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจซื้อก็จะได้วางแผนในการเข้าซ่อมบำรุงต่อได้

4.เช็กสภาพรถยนต์

เช็กสภาพรถยนต์มือสอง ควรไปในเวลากลางวันเพื่อจะมองเห็นสภาพรถได้ชัดเจน โดยรถควรจอดอยู่บนพื้นราบ ไม่เอียงไปทางซ้ายหรือขวา และหากทำได้ ไม่ควรบอกผู้ขายไว้ล่วงหน้านาน ๆ ว่าจะเข้าไปดูรถคันไหน เมื่อไหร่ เพื่อจะได้พบกับสภาพรถเดิม ๆ ที่ไม่ได้ถูกดัดแปลง และควรพาผู้เชี่ยวชาญหรือเพื่อนที่มีความรู้ไปช่วยดู แต่หากไม่มีก็สามารถจ้างช่างไปช่วยดูได้ โดยควรเช็กทั้งภายในและภายนอกของรถยนต์อย่างละเอียดเท่าที่ทำได้ เช่น

  • สภาพสี : สังเกตดูแต่ละชิ้นส่วนของรถยนต์ตั้งแต่ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง ด้านบน ตลอดจนตัวถังด้านใน ว่าสีมีความกลมกลืนเสมอกัน ไม่มีสีเพี้ยนหรือรอยเลอะ และเมื่อใช้มือลูบ หากรู้สึกว่าสาก ไม่เรียบลื่น ก็อาจผ่านการซ่อมแซมมาแล้ว 
     
  • เลขไมล์สะสม : โดยทั่วไปรถจะมีระยะทางในการใช้งานประมาณ 25,000 – 35,000 กิโลเมตรต่อปี แต่ก็ขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ลักษณะการใช้งาน โดย สภาพรถ ปีรถ และ ระยะทางขับขี่ ควรสอดคล้องกัน หากห้องโดยสารดูใหม่หรือดูโทรมกว่าเลขไมล์ อย่างไม่สัมพันธ์กัน ก็แสดงว่าอาจมีการปรับเลขไมล์หรืออาจผ่านการซ่อมหนักมาแล้วก็ได้ 
     
  • สภาพห้องโดยสาร : ให้สังเกตดูสภาพทั่วไปว่ามีความผิดปกติในการใช้งานหรือไม่ เช่น กระจกไฟฟ้าเปิดได้ปกติหรือไม่ เบาะมีรอยขาด มีคราบอับชื้น มีรา หรือไม่ หรือมีคราบสนิมในจุดต่าง ๆ หรือไม่ เพราะจะแสดงให้เห็นถึงสภาพการใช้งาน และทำให้ทราบว่ามีอะไรที่ต้องไปจัดการเพิ่มเติมบ้าง
     
  • โครงสร้างรถยนต์ : ควรตรวจสอบตั้งแต่ ห้องเครื่องรถยนต์ด้านหน้า ท้ายรถ ใต้ท้องรถ และสังเกตหัวน็อตตามจุดต่าง ๆ ว่ามีการถอดหรือขยับหรือไม่ สังเกตรอยเชื่อมต่าง ๆ ว่ามีการเชื่อมใหม่จากการซ่อมแซมหรือไม่ และหากโครงสร้างรถเคยผ่านการซ่อมแซมมา สีบริเวณที่ถูกซ่อมแซมนั้นจะดูใหม่เงางามกว่าปกติ 
     
  • ห้องเก็บของที่อยู่ส่วนท้ายรถ : เปิดดูท้ายรถว่าเรียบร้อยปกติดีหรือไม่ มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ความอับชื้นหรือมีราขึ้นหรือไม่
     
  • เลขตัวถังและเลขเครื่อง : ถ้าเลขไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือมีลักษณะถูกแก้ไข หรือขาดหายไป จะต้องสอบถามสาเหตุจากผู้ขาย และตรวจสอบรถอย่างละเอียด
     
  • ท่อยางและสายพาน : ตรวจสอบว่ามีรอยร้าวรอยรั่วหรือรอยแตกลายงา รวมถึงยังมีสภาพความยืดหยุ่นดีหรือไม่ และสายพานต่าง ๆ ต้องไม่หย่อนหรือตึงเกินไป
     
  • แกนวัดระดับของเหลวต่าง ๆ : ต้องอยู่ในระดับปกติ มีสีใส ไม่ขุ่นดำ หรือมีกลิ่นไหม้ โดยการวัดระดับจากแกนวัดระดับเหล่านี้ ควรทำในขณะยังไม่สตาร์ทรถ
     
  • ยางรถยนต์ : ตรวจสอบว่ายางรถทั้ง 4 ล้อ เป็นชนิดและรุ่นเดียวกันหรือไม่ และดูลักษณะความสึกกร่อน ความสมมาตรกันของยางแต่ละเส้นว่าเท่ากันหรือไม่ หากไม่เท่ากันระหว่างล้อซ้ายและขวา ก็อาจแค่ตั้งศูนย์ถ่วงใหม่ได้ แต่ให้ระวังอีกกรณีว่าอาจเป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุจนเสียศูนย์อย่างถาวรก็ได้
     
  • ยางอะไหล่และเครื่องมือประจำรถ : ตรวจสอบดูยางอะไหล่ และเครื่องมือประจำรถ ว่ามีครบถ้วน และมีสภาพเรียบร้อย พร้อมใช้งานหรือไม่   
     
  • ระบบท่อไอเสีย: ตรวจดูระบบท่อไอเสียจากใต้ท้องรถ สังเกตดูรอยดำ รอยสนิม รอยแตก ที่ผิดปกติต่าง ๆ หรือรอยของเหลวที่รั่วซึมออกมาตามรอยรั่วของระบบท่อไอเสียว่ามีหรือไม่ 
     
  • แหวนลูกสูบ : เปิดฝาน้ำมันเครื่องตรวจดูสภาพ คราบ และรอยสนิมต่าง ๆ เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของแหวนลูกสูบ รวมถึงการสังเกตดูสีของของเหลวภายในว่ามีสีผิดปกติที่เกิดจากเครื่อง Over heat ที่ทำให้ฝาสูบโก่ง ซึ่งทำให้มีของเหลวอื่น ๆ ปะปนไปในน้ำมันเครื่องหรือไม่   

5.ทดลองขับ

การทดลองขับรถนอกจากจะทำให้เราได้สัมผัสกับตัวรถอย่างแท้จริงแล้ว ยังทำให้เราสามารถทดสอบระบบต่าง ๆ ภายในรถ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ระบบกันสะเทือน ระบบบังคับเลี้ยว ไม่ควรมีเสียง หรือการทำงานที่ผิดปกติ โดยควรทดลองขับตั้งแต่ความเร็วต่ำ และค่อย ๆ เพิ่มความเร็ว และขับผ่านทั้งถนนที่เรียบและที่ขรุขระหรือทางชันเพื่อสังเกตอาการต่างๆ ของรถ โดยมีสิ่งที่ควรสังเกตดังนี้

  • สตาร์ทรถ : ควรสตาร์ทรถตอนที่เครื่องเย็น เพื่อสังเกตดูว่าติดง่ายหรือยาก หากติดยาก แสดงว่ารถอาจจะมีปัญหาในส่วนของแบตเตอรี่หรือไดสตาร์ท ซึ่งโดยปกติแล้วเครื่องควรทำงานได้เรียบ นิ่ง ไม่สะดุด ไม่มีเสียงหรือกลิ่นที่ผิดปกติ
     
  • ทดสอบพวงมาลัย : หมุนพวงมาลัยทางซ้ายและขวาให้สุด เพื่อฟังเสียงเครื่องยนต์ ซึ่งต้องไม่มีเสียงหรือการทำงานที่ผิดปกติ
     
  • ตรวจสอบฟังก์ชันและอุปกรณ์พื้นฐาน : ลองใช้งานทุกส่วน เพื่อตรวจสอบระบบให้ครบ  ตั้งแต่ระบบไฟ กระจกหน้าต่าง และระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบระบบ ABS หรือ Airbag เบื้องต้น โดยเปิดสวิตช์ในตำแหน่ง ACC ON ซึ่งจะปรากฏไฟขึ้นและดับลงเมื่อสตาร์ทรถ ถ้าไฟยังติดอยู่แสดงว่าอาจมีปัญหา แต่หากไม่ติดตั้งแต่แรก แสดงว่าอาจถูกตัดการแจ้งเตือนไปเพื่อปกปิดความบกพร่องก็ได้
     
  • ตรวจสอบระบบเบรก : ทดลองเบรกแบบกะทันหัน เพื่อทดสอบระบบเบรกและ ABS ว่าสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ ทั้งนี้ควรระมัดระวังความปลอดภัยระหว่างการทดสอบด้วย โดยควรทดสอบด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. บนถนนส่วนบุคคล หรือที่โล่ง และระหว่างเบรก ให้สังเกตเสียงเบรกว่าผิดปกติหรือไม่ มีอาการส่ายหรือสั่นหรือไม่ หรือผ้าเบรกใกล้หมดหรือไม่ รวมไปถึงจานเบรกว่ามีพื้นผิวสัมผัสที่ปกติหรือไม่
     
  • ตรวจสอบระบบทำความเย็น : ให้ปรับความเย็นและแรงลมว่าทำงานได้ดีในทุกระดับหรือไม่ และน้ำยาแอร์ จะต้องเป็นชนิด R134 
     
  • ตรวจสอบควันไอเสีย : ลักษณะของควันจากท่อไอเสีย สามารถบอกว่าเครื่องยนต์อยู่ในสภาพปกติดีหรือไม่ หากมีควันเพียงเล็กน้อยถือว่าปกติ แต่หากมีควันดำ ๆ ฟุ้งเป็นจำนวนมาก พร้อมกับกลิ่นเหม็น หมายความว่าเครื่องยนต์กำลังเผาไหม้น้ำมันเครื่อง และแสดงความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ภายในเครื่องยนต์

 

6.ตรวจสอบเอกสาร

เมื่อคุณตัดสินใจที่จะซื้อรถแล้ว ต้องตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้อง และควรหลีกเลี่ยงการซื้อรถจากต่างถิ่น โดยเฉพาะหากเป็นรถที่มีราคาถูกผิดปกติ จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นรถที่ดำเนินการอย่างผิดกฎหมายได้ และจะต้องพิจารณาว่าข้อมูลในเอกสารตรงกับข้อมูลที่ผู้ขายได้แจ้งกับคุณไว้หรือไม่ด้วย ดังนี้

  • เล่มทะเบียนรถยนต์ : มีเล่มทะเบียนที่ถูกต้อง แสดงรายละเอียดตรงกับรถที่จะซื้อ เช่น ชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ เคยเปลี่ยนเครื่องยนต์หรือเปลี่ยนสีมาก่อนหรือไม่ เป็นต้น
     
  • เอกสารการซื้อขายต่าง ๆ : ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ว่ามีครบถ้วนหรือไม่ ทั้งหนังสือสัญญาซื้อขาย สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขาย พร้อมหลักฐานต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ตรวจดูรหัสเครื่องยนต์ เลขทะเบียนรถด้วยว่าตรงกันทุกจุดหรือไม่ และอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนเซ็นสัญญา
     

หากคุณทำตามขั้นตอนการเลือกซื้อรถยนต์มือสองที่ เจมาร์ท ประกันภัย แนะนำเชื่อว่า คุณจะได้รถยนต์มือสองที่คุ้มค่า น่าพอใจ มาครอง อย่างไร้ปัญหากวนใจ แล้วอย่าลืมเพิ่มความอุ่นใจในการขับขี่ด้วย ประกันภัยรถยนต์ จากเจมาร์ท ประกันภัย สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 02 099 0555 ต่อ 4262 หรือที่ LINE : @jaymartinsurance

By Jaymart Content Team : Riya